บทความ
นโยบายต้านโกงจากพรรคการเมือง ไม่ต้องมากแต่ต้องทำได้
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 18,2019
นโยบายต้านโกงจากพรรคการเมือง ไม่ต้องมากแต่ต้องทำได้
การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างทุกเรื่องพร้อมกัน และแทนที่จะพุ่งเป้าไปเรื่องยาก ข้อจำกัดมาก แรงต้านเยอะ เราควรจะเริ่มจากจุดที่พอทำได้หรือมีปัญหาน้อยเสียก่อน (คลิทการ์ท,2560) ที่สำคัญต้องเน้นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและคนทำมาหากิน เพราะนั่นคือโอกาสที่จะทำให้สำเร็จได้จากความเข้าใจและสนับสนุนจากพลังของมหาชนคนหมู่มาก
นโยบายอย่างไรที่จับต้องได้ ปฏิบัติได้..
บ้านเราจับตรงไหนก็เจอคอร์รัปชัน ดังนั้นควรฟังเสียงของประชาชนว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญ อะไรที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญต้องแก้ไขด่วน หยิบยกปัญหาทีละประเด็นขึ้นมาแล้วบอกว่าเรื่องนั้นๆ จะทำอย่างไร ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว
“โกงแล้วไม่เห็นติดคุก” วิธีเอาชนะเช่น ตั้งศาลคอร์รัปชัน ตั้งสำนักงานอัยการฝ่ายคดีคอร์รัปชัน กำหนดระยะเวลาให้ ป.ป.ช. ต้องทำคดีให้เสร็จภายในสองปี ปรับปรุง ป.ป.ช. โดยจัดสรรอำนาจและดึงหน่วยงานมาร่วม พัฒนาคน ลดขั้นตอนการทำงาน
“ชาวบ้านโดนรีดไถ จ่ายส่วยสินบน” ทางออกเช่น ทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหมดความจำเป็น เอาเทคโนโลยี่มาบริการประชาชนให้มากที่สุด ออกกฎหมายอำนวยความสะดวกเพื่อบังคับให้หน่วยราชการต้องลดขั้นตอนการทำงาน เลิกเรียกเอกสารมากเกินจำเป็น ประชาชนตรวจสอบติดตามเรื่องได้ และลงโทษข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติตามกติกา
“โกงงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง” แก้ไขโดย วางระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เปิดให้มีตัวแทนประชาชนคอยสอดส่องในการจัดซื้อขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยี่ยุคใหม่ให้ทุกคนติดตามตรวจสอบได้ง่าย เช่น EGP, GFMIS, e-Payment เว็ปไซต์ภาษีไปไหน เป็นต้น
3 อันดับปัญหาที่ควรแก้ไขเร่งด่วนตามผลการสำรวจโพลต้านโกง ได้แก่..
1. เปิดเผยข้อมูลเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้คนเข้าไปดูได้ง่ายๆ
2. กำหนดมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันคอร์รัปชันในหน่วยงานของรัฐที่ขึ้นชื่อว่ามีคอร์รัปชันมาก
3. ควบคุมจัดการคนในรัฐบาลและสมาชิกพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน
อีกจุดอ่อนที่เป็นหัวใจของการต่อต้านโกงคือ การปกป้องคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งรังแก เมื่อเขาออกมาต่อต้านเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ได้พบเห็น
ทำเพื่อแผ่นดินไม่มีอะไรยากเกินไป..
ข้อเสนอหรือแนวทางเพื่อต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันที่เหมาะกับสังคมไทย ทุกคนสามารถเรียนรู้ เลือกเอาหรือปรับปรุงใหม่จากหลายแหล่ง สะดวกที่สุดคือข้อเสนอตามรายงานของ 1) โพลต้านโกง 2) สภาปฏิรูปแห่งชาติ 3) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ 4) แผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่มีทั้งหลักการและแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) มากมาย ที่สำคัญคือทุกคนหวังว่าด้วยประสบการณ์ของนักการเมืองอาจมีมุมมองและวิธีนำไปปฏิบัติที่น่าสนใจกว่าก็เป็นได้
ไม่ต้องสนใจหรอกว่านโยบายต้านโกงของแต่ละพรรคการเมืองจะเหมือนใครหรือมีใครเคยพูดหาเสียงไว้แล้ว เพราะนี่คือการทำเพื่อประเทศชาติและสิ่งที่ประชาชนจะสนับสนุนคือการลงมือทำและทำได้จริงเท่านั้น ยุคนี้ประชาชนฉลาดพอครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
16/1/62
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน